วิกฤตการเงินโลก กับความผันผวนของราคาทองคำในปี 2566

1,153

ทำไมยิ่งวิกฤตเท่าไหร่ ทองคำยิ่งราคาแพง? น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยมาโดยตลอด ว่าทำไมช่วงเกิดวิกฤต ราคาทองคำถึงปรับตัวขึ้นสวนทาง

นั่นก็เพราะทองคำถือเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven Asset) ที่มีความผันผวนต่ำ มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนน้อย เมื่อเกิดวิกฤตินักลงทุนและผู้ซื้อรายย่อยจะย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่คือทองคำ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มูลค่าของทองคำ มักจะแปรผันไปในทิศทางตรงข้ามกับหุ้น รับปัจจัยที่ธนาคารสหรัฐฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ผู้คนแห่ลงทุนทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและมั่นคงเป็นจำนวนมาก

Silicon Valley Bank หรือ SVB เป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐฯ ด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเน้นทำธุรกิจกับกลุ่ม Start Up หรือกลุ่ม Tech และพึ่งถูกสั่งปิดโดย FDIC หรือ Federal Deposit Insurance Corp. คล้ายๆ หน่วยงานคุ้มครองเงินฝาก (แต่คุ้มครอง เพียง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นเพียง 3% ของบัญชีในธนาคาร)

ปัญหาของธนาคารนี้คือ เกิดจากความน่าเชื่อถือ เกิด Bank Run หรือคนไม่มั่นใจแห่ถอนเงินจำนวนมากจนธนาคารขาดกระแสเงินหมุนเวียนจากการถอนเงินฝากไปราว 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด เจอปัญหาสภาพคล่องจนลามเป็นปัญหาล้มละลาย FDIC จึงต้องระงับกิจการโอนเงินฝากให้ธนาคารที่จะจัดตั้งใหม่ และวิกฤตินี้แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เลห์แมนล้ม ในปี 2551

ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหาฯ ตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่อง จากดอกเบี้ยขาขึ้นและขาดการบริหารที่ดีด้านระยะเวลาเงินฝากและสินเชื่อ

เพราะอยู่ดีๆราคาหุ้นก็ร่วงลงถึง 60% ในวันเดียวจากความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมาก เพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จริง ๆ ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน เรียกว่า unrealized loss คือ ราคาพันธบัตรลดลงต่ำว่าหน้าตั๋ว

เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้นแรง ราคาพันธบัตรที่สวนทางกับดอกเบี้ยที่ขึ้นจะลดลง เมื่อ SVB ต้องการเงินก็จำเป็นต้องขายขาดทุน พอขาดทุนก็ต้องการเงิน ไปขอเพิ่มทุน คนก็กลัวเทขายหุ้น คนฝากก็ตกใจถอนเงิน จนเป็นภาวะปิดตัวเช่นนี้

และอีกประเด็นที่ทำไมขาดเงินก็เพราะธุรกิจTechในสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายย่อยที่ขาดทุนอยู่มาก ยังไม่มีกำไรหรือกระแสเงินสดดี พอดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องยิ่งมีปัญหา กระทบธนาคารนี้ไปด้วยเพราะเน้นธุรกิจกลุ่มนี้ แต่ปัญหานี้น่าอยู่ในธนาคารขนาดเล็กที่เน้นกลุ่ม Tech หรือ Start up เป็นหลัก ซึ่งต่างกับธนาคารใหญ่

โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดี ยังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจาก FED ได้ แต่อาจมีธนาคารที่มีปัญหาเพิ่ม ในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐฯ จนราคาพันธบัตรลดลง ต้องดูว่าใครร้อนเงินอีก หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤตินี้บ้าง

ผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะผ่านตลาดเงินและตลาดทุน ที่ยังมีแนวโน้มผันผวน อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าจะให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆ เพื่อดูสัญญาณว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ กรณี SVB อาจจะมีน้ำหนักในด้านเสถียรภาพของตลาดการเงิน

ทำให้ FED ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป หาก SVB มีปัญหาลุกลามหรือมีความไม่แน่นอน ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทย(ซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว) ให้ชะลอตัวต่อไปได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะลดลงตามดีมานที่น้อยลง ทำให้การนำเข้าของไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า

ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่าจะกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯมากกว่า ไม่น่ากระทบฝั่งเอเชียแปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกย่อมไม่สดใสตามไปด้วย

สำหรับธนาคารไทยคงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Cryptocurrency โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะพอทำให้นักลงทุนได้เรียนรู้ว่า ควรกระจายความเสี่ยงอย่าใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าใบเดียว ควรกระจายการลงทุน อย่าเป็นเหมือนคนฝากเงินใน SVB ที่พึ่งธนาคารเดียว

รวมทั้งนักลงทุนไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ใดประเภทเดียว วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบเสมอ จากวิกฤตด้านเครดิตในปี 2551 เปลี่ยนเป็นวิกฤตสภาพคล่องในปี 2566 หรืออาจมีวิกฤตรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาในอนาคต

แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับสูงเช่นนี้ อาจเห็นธุรกิจอื่นที่มีปัญหาซ่อนไว้รอวันประทุขึ้นอีกก็ได้ แต่ถึงแม้ตลาดจะฟื้น แต่นักลงทุนยังควรระมัดระวังความผันผวนต่อไปจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ควรแบ่งเงินลงทุนเป็นหลาย ๆ จังหวะ ลงทุนทีละน้อยจนครบเป้าหมาย ไม่แนะนำให้ลงทุนก้อนใหญ่ทีเดียว เพราะเราไม่มีทางรู้ทิศทางตลาด และไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่ควรลงทุนลงเงินแล้วได้ความสบายใจควบคู่ไปด้วย

กรณี SVB น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่กระทบราคาพันธบัตรและมีผลให้กลุ่ม Tech และกลุ่ม Start Up มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทบธนาคารที่เชื่อมโยงกับกลุ่มนี้

รวมทั้งผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นจนแห่ถอนเงิน และปัญหาเช่น SVB นี้ไม่น่าลามจนเกิดวิกฤติการเงินเหมือนในปี 2551 เพราะการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงอื่น ๆ มีน้อย และขนาดของธนาคารที่มีปัญหาไม่ได้ใหญ่จนมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย หรือยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูง ผลประกอบการจะถูกปรับลดลง บางธุรกิจขาดทุนจนต้องปิดตัว เกิดการเลิกจ้างงานจำนวนมาก เกิดเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เงินเฟ้อกลับไม่ลดลงเพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาห่วงโซ่อุปทานภาพแบบนี้เป็นภาวะที่น่ากลัว และยากในการแก้ไขด้วยนโยบายการเงิน จนเหตุการณ์อาจเลวร้ายหนักกว่ารอบก่อน ๆ ก็ได้ หากวิกฤต SVB ที่เราเห็นเป็นแค่หนังตัวอย่าง และของจริงกำลังจะตามมา

ซึ่งเชื่อว่า FED มีความยืดหยุ่นพอที่จะดูแลปัญหาในลักษณะนี้ และอาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ FED ขึ้นดอกเบี้ยช้าลง และถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงส่งผลบวกต่อราคาทองคำในระยะกลางและระยะยาว และหากปัจจัยเรื่องธนาคารสหรัฐฯ ยังไม่ยุติรวมถึง FED ชะลอขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เพียงนักลงทุนรายย่อย

ขณะเดียวกันทางธนาคารกลางทั่วโลกก็หันมาซื้อทองคำเช่นกัน อาทิ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้เพิ่มปริมาณทองคำสำรองขึ้น 30% จาก 4.9 ล้านออนซ์ในเดือนธ.ค.65 เป็น 6.4 ล้านออนซ์ หรือ 199 ตัน ในเดือน ม.ค.66 ส่งผลให้มูลค่ารวมของทองคำแท่ง ณ สิ้นเดือนม.ค.66 อยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มถือครองทองคำแท่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ซื้อรายย่อยแห่ซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนแนวโน้มของสถานการณ์ราคาทองคำในประเทศไทยนั้น ค่อนข้างมีเสถียรภาพสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยอานิสงส์จากเสถียรภาพของค่าเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่เราใช้คำนวนราคาทองคำในบ้านเรานั้นไม่ปรับขึ้นหรือลดลงอย่างหวือหวารุนแรง

ทำให้การลงทุนในทองคำโดยเฉพาะปี 2566 นี้ จะเป็นปีที่น่าจับตามองทีเดียว เพราะความผันผวนของราคาทองคำน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จากวิกฤตสถาบันการเงินที่พึ่งเริ่ม การปรับตัวของดอกเบี้ย การล้มลงของธุรกิจ รวมถึงอัตราการว่างงาน และวิกฤตด้านอื่น ๆ ที่น่าจะตามมาอีกในอนาคตอันใกล้นี้ ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักลงทุนรวมถึงสถาบันการเงินทั่วโลกเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และทองคำยังคงเป็นตัวเลือกในการลงทุนอันดับต้นๆของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา

บทความ : ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

Comments are closed.