ทองคำในอุตสาหกรรม

8,892

นอกจาก “ทองคำ” จะถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมาเป็นเวลานาน เพราะมีคุณค่าจากความหายาก ทนทาน พกพาสะดวก และมีสีเหลืองแวววาวน่าหลงใหล แม้กระทั่งในปัจจุบัน หลายคนก็ยังคงให้คุณค่าและสะสมความมั่งคั่งด้วยทองคำ ด้วยความเชื่อที่ว่า ทองคำจะไม่เสื่อมมูลค่าลง

และในความเป็นจริง ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยอุปทานของทองคำในตลาดมีอย่างจำกัด นอกจากนี้ “ทองคำ” ยังถูกใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทันตกรรม การแพทย์ หรือ แม้แต่อุตสาหกรรมอวกาศ

ทองคําในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ทองคํานั้นมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องคิดเลข โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มักง่ายต่อการเกิดสนิม และการผุกร่อน โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อของอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ทองคําจึงถูกนํามาใช้เป็นตัวนํากระแสไฟฟ้าตามจุดเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า เพราะทนทานต่อการผุกร่อน แต่สามารถนำกระแสไฟฟ้าได้ดี

อย่างไรก็ตาม แม้ทองคําจะถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงปริมาณเล็กน้อย แต่ลองนึกดูว่า ทุกปีมีการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมามากมายมหาศาล เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว เราต้องใช้ทองคําไปไม่น้อยเลยทีเดียว

ทองคํากับทันตกรรม

ลองนึกภาพตามว่า ถ้าเรานําเหล็กมาใช้ในการอุดฟัน ก็คงไม่น่าจะดีแน่ เพราะทันตแพทย์ต้องใช้เครื่องมือของช่างตีเหล็กมาทํากับฟันของเราอย่างแน่นอน และรอยยิ้มของเราคงจะขึ้นสนิมภายในไม่กี่วัน ทั้งยังต้องทําใจยอมรับกับรสชาติสนิมในปากไปตลอดอีกด้วย

นี่คือเหตุผลที่ว่าทําไมทองคําถึงถูกนํามาใช้ในทางทันตกรรม เพราะทองคำเป็นโลหะที่ไม่ทําปฏิกิริยากับสารอื่นได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ต่อร่างกาย และง่ายต่อการทํางานของทันตแพทย์ แถมยังดูสวยงาม (แม้ว่าจะแพงกว่ามากก็ตาม) ปัจจุบันได้นําโลหะผสมของทองคํามาใช้ในการอุดฟัน เคลือบฟัน และทันตกรรมอื่น ๆ เช่นกัน

ทองคํากับการแพทย์

เชื่อหรือไม่ว่า แพทย์ใช้ทองคําในการรักษาอาการป่วยบางประเภท เช่น โรคเปลือกตาปิดไม่สนิท (Lagophthalmos) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถปิดเปลือกตาได้สนิท ทองคํา จึงเข้ามามีบทบาทโดยจะถูกฝังเข้าไปในเปลือกตาด้านบน เพื่อสร้างน้ำหนักถ่วงให้เปลือกตาปิดได้สนิทมากยิ่งขึ้น

หรือทองคําที่เป็นกัมมันตรังสีในสารละลายคอนลอยด์ที่มีคุณสมบัติสามารถแผ่รังสีเบต้าออกมา เมื่อฉีดเข้าไปในร่ายกายจะสามารถตรวจจับขณะที่สารละลายเคลื่อนที่ผ่านอวัยวะต่าง ๆ ได้ เพื่อใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์โรค และทองคําที่เป็นกัมมันตรังสีนี้ ยังใช้ในการฉายแสงรักษามะเร็งตามจุดต่าง ๆ โดยการฝังเข้าไปในเนื้อเยื่อโดยตรง

ทองคํากับอุตสาหกรรมอวกาศ

ทองคํา คือวัสดุที่เชื่อได้ว่าทนทานที่สุด นี่คือเหตุผลที่ว่า ทําไมทองคําถึงถูกใช้ในกระบวนการสร้างยานอวกาศ จรวด ดาวเทียม รวมถึงวงจรไฟฟ้า และเป็นส่วนผสมในโพลิเมอร์ฟิล์มฉาบภายนอกตัวยาน เพื่อสะท้อนรังสีอินฟาเรด และรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ ไม่ให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์มาทำลาย หรือลดประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์

จึงมีการนำทองคำมาเป็นส่วนผสมของชุดนักบินอวกาศ และแคปซูล เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับรังสีในอวกาศที่มีพลังงานสูง หรือนำไปเคลือบหมวกเหล็ก เกราะบังหน้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในอวกาศ 

นอกจากนี้ เนื่องจากสารหล่อลื่นอินทรีย์จะแตกตัว และระเหยกลายเป็นไอในสภาวะสูญญากาศ จนไม่สามารถนำมาใช้งานได้ จึงถูกแทนที่ด้วยแผ่นทองคําบาง ๆ เพื่อใช้เป็นสารหล่อลื่นสําหรับเครื่องจักรแทน เพราะมีความต้านทานแรงเฉือน (shear strength) ต่ำ เมื่อมีแรงเสียดทานมากระทํา โมเลกุลของทองคําจะเลื่อนผ่านกันเสมือนเป็นสารหล่อลื่นไปในตัว

แม้ว่าการใช้ทองคำในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะมีมูลค่าไม่สูงมาก หากเทียบกับอุปสงค์ทองคำรวมของโลก แต่แนวโน้มการเติบโตของการใช้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็อาจจะผลักดันการเติบโตของอุปสงค์ทองคำรวมของโลกในอนาคต

ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหลัก ที่ส่งผลต่อราคาทองคำในระยะยาว และมีตัวเลขที่น่าสนใจจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า

ถ้ารวบรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ 1 ตัน มีแนวโน้มที่จะสามารถสกัดทองได้ประมาณ 300-350 กรัม เทียบกับการถลุงแร่ 1 ตัน จะสกัดทองได้เพียง 5 กรัม เท่านั้น

ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ
ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

ดังนั้น การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงน่าจะคุ้มกว่าการทำเหมืองทอง และไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากการทำเหมืองทองอีกด้วย

อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรที่มีค่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

โดยเฉพาะโลหะทองคำ ซึ่งจัดเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูง พบได้น้อยในธรรมชาติเมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่น ๆ และเป็นโลหะเพียงไม่กี่ชนิด ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่แทบจะร้อยเปอร์เซนต์ ตรงกับคอนเซปต์ความยั่งยืนทางธุรกิจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังตื่นตัวกันอยู่ทุกวันนี้เลยทีเดียว

บทความ : ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

เอกสารอ้างอิง

1. www.geothai.net

2. www.goldbulletin.org

3. www.thefreelibrary.com

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.