ดัชนีฯ เชื่อมั่นทองคำ เม.ย. และไตรมาสที่ 2 ของปี65 นักลงทุนคลายกังวลสงครามยูเครน จับตาดอกเบี้ยสหรัฐฯ กดดันราคาทอง

2,043

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เมษายน 2565ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือน มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา จากระดับ 76.20 จุด มาอยู่ที่ระดับ 64.97 จุด ลดลง 11.23 จุด หรือคิดเป็น 14.73% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมานั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เริ่มคลี่คลาย รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 (เม.ย.–มิ.ย.)ปรับลดลงจาก ไตรมาสแรกของปี 2565 จากระดับ 70.24 จุด มาอยู่ที่ระดับ 60.56 จุด ลดลง 9.68 จุด หรือคิดเป็น 13.78% โดยดัชนีฯ ที่ปรับลดลงมานั้น น่าจะมีสาเหตุมาจาก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เริ่มคลี่คลาย ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง การแข็งค่าของเงินบาท และ การลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน เมษายน 2565จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 294 ตัวอย่าง พบว่า 50% จะซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 29% ยังไม่ซื้อทองคำ และอีก 21% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำ หรือไม่

สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน เมษายน 2565 จะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มีนาคม 2565 มีจำนวน 6 ราย และคาดว่าจะลดลง มีจำนวน 4 ราย ส่วนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 3 ราย

สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน เมษายน 2565ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,870 – 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 29,700 – 31,500 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.98 – 33.92 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

การลงทุนทองคำในเดือน เมษายน 2565ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองมีการแกว่งตัวผันผวน และการเหวี่ยงตัวของราคายังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีแนวต้านอยู่ที่ 1,966 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์ และหากสามารถผ่านแนวต้านแรกไปได้ อาจมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1,998 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์ แต่หากไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านดังกล่าวได้ ยังคงต้องระมัดระวังแรงขายที่ออกมา โดยประเมินแนวรับแรกที่บริเวณ 1,890 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์ และแนวรับถัดไปที่บริเวณ 1,863 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อทรอยออนซ์ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ อาจเข้าซื้อเมื่อราคาทองย่อตัวลงมาใกล้แนวรับดังกล่าว ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสำเร็จผลหรือไม่ และค่าเงินบาทที่แกว่งตัวในกรอบกว้างซึ่งมีผลต่อราคาทองคำในประเทศ

Download รายงานศูนย์วิจัยทองคำประจำเดือน เมษายน 2565 ฉบับเต็มได้ที่นี่

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.