มารู้จักเหรียญทองคำ

5,457

เหรียญทองคำปรากฏขึ้นแทบจะในทุกวัฒนธรรมโบราณของโลก ด้วยเหตุของการเป็น “ต้นทุน” สำหรับการเก็บสะสมของผู้มั่งคั่ง และมีหลักฐานความนิยมในหมู่ประชาชนของแต่ละวัฒนธรรมว่า เหรียญทองคำคือ สินทรัพย์ที่เก็บสะสมเพื่อความมั่นคงในชีวิต เช่น การตั้งใจกลบฝังเหรียญทองไว้ เพื่อจะกลับมาขุดไปในภายหน้า

แม้แต่ในคาบสมุทรมลายู ตลอดวัฒนธรรมโบราณภาคพื้นทวีปของแผ่นดินสุวรรณภูมิบ้านเรา ก็มีหลักฐานการผลิตเหรียญทองขึ้นมาใช้ตั้งแต่ยุคโบราณ กระทั่งในยุคปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการจัดทำเหรียญที่ระลึกในวาระสำคัญจากทองคำโดยกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ที่ใช้เป็นทั้ง “ของสะสม” และ “สินทรัพย์” อีกด้วย

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเหรียญทองคำให้ได้ทราบกัน จะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับทองคำที่เป็น “สินทรัพย์เพื่อความมั่นคง” โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตแบบนี้ ซึ่งในสมัยนั้นถ้าเปรียบให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ จัดอยู่ในทองคำประเภท “ทองคำแท่ง” และการสะสมทองคำแท่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะคนสมัยนั้นมีความนิยมเก็บ “เหรียญทองคำ” ไว้เพื่อเป็นต้นทุน ก่อนที่เหรียญทองคำจะพัฒนากลายเป็นความนิยมเก็บสะสมทองคำแท่งในยุคปัจจุบัน

โดยเฉพาะในอียิปต์โบราณที่มีข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากทองคำปรากฏขึ้นตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนศริสตกาล ตามมาด้วยการค้นพบที่ประเทศมาซิโดเนีย อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เรื่อยมาจนมาถึงยุคตื่นทองหลังค้นพบทวีปอเมริกา ทองคำยังอยู่ในสถานะเงินตราที่มีค่าสูงสุด และเป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับในทุกวัฒนธรรมโบราณ

ยิ่งถ้าพูดถึงกระแสวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว จะไม่พูดถึงชาวโรมันคงไม่ได้ เพราะโรมันคือรากฐานทางวัฒนธรรมตะวันตกในยุคต่อๆ มา และแน่นอนในวัฒนธรรมโรมันก็มีการนำทองมาใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของเครื่องประดับตกแต่ง เครื่องประกอบพิธีกรรม

แต่วัตถุทองคำที่แพร่หลายมากที่สุด เข้าถึงคนทุกชนชั้นได้ง่ายที่สุดก็คือ “เหรียญทองคำโรมันโบราณ” ซึ่งเหรียญทองคำโรมันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวัฒนธรรมโรมันเท่านั้น แต่ปรากฏหลักฐานเหรียญทองคำโรมันโบราณไปทั่วทุกพื้นที่แทบจะทุกวัฒนธรรมโบราณ 

และหลักฐานที่ชัดที่สุดว่าชาวโรมันมีการเก็บสะสมเหรียญทองคำไว้เป็นสินทรัพย์เพื่อความมั่นคงก็คือ ในปี พ.ศ. 2561 อิตาลีได้ขุดพบเหรียญทองคำโบราณกว่า 300 เหรียญ ที่มีอายุประมาณ 1,500 ปี บรรจุอยู่ภายในภาชนะคล้ายขวดหรือโถที่มีหูจับ 2 ข้าง ซึ่งชาวโรมันโบราณใช้ในการบรรจุไวน์ ไปจนถึงน้ำมันมะกอกเพื่อการขนส่ง

ถัดมา สำหรับวัฒนธรรมชาวอาหรับโบราณ ก็ไม่น้อยหน้าเมื่อมีร่องรอยของเหรียญทองคำอาหรับโบราณปรากฏอยู่โดยรอบพื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2558 เมื่อนักประดาน้ำอิสราเอล พบเหรียญทองคำโบราณครั้งใหญ่ ด้วยจำนวนกว่า 200 เหรียญ มีน้ำหนักรวมกันถึง 9 กิโลกรัม นอกชายฝั่งเมืองเคซารี เมืองท่าโบราณ ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  

จากการตรวจสอบทางโบราณคดีนั้น พบว่าเหรียญส่วนใหญ่เป็นเหรียญทองคำซึ่งมีมูลค่าของเงินแตกต่างกันไป อยู่ในสมัยราชวงศ์ที่ครองอาณาเขตส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ระหว่างปี พ.ศ. 1452-1714 (ค.ศ. 909-1171)

นั่นหมายความว่าเหรียญทองคำเหล่านี้มีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี และ “ประเมินค่ามิได้” หน่วยโบราณคดีทางทะเลของสำนักโบราณวัตถุอิสราเอล ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เรือขนเงินเหล่านี้อาจอับปางในบริเวณดังกล่าวระหว่างเดินทางไปอียิปต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของรัฐในขณะนั้นพร้อมกับเงินภาษีที่เก็บรวบรวมได้ หรืออาจจะเป็นเงินที่นำมาจ่ายเงินเดือนทหารรักษาการณ์ของกองทัพของราชวงศ์ก็เป็นได้

 ในช่วงเดือนสิงหาคมของปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการค้นพบเหรียญทองคำอาหรับครั้งใหญ่ในอิสราเอลอีกครั้ง ถูกซ่อนไว้ในโถดินเผา เป็นเหรียญทองคำบริสุทธิ์ 24 กะรัต จำนวน 425 เหรียญ อายุราว 1,100 ปี

ย้อนไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นช่วงอายุของเหรียญทองคำที่ใกล้เคียงกันกับเหรียญทองคำที่ค้นพบนอกชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งถ้าเทียบช่วงอายุของเหรียญทองคำอาหรับโบราณที่ค้นพบเหล่านี้แล้ว ก็จะตรงกับพุทธศตวรรษที่ 15 ร่วมสมัยเมืองพระนครของจักรวรรดิเขมร  อาณาจักรศรีวิชัยทางคาบสมุทรมลายู และช่วงปลายของวัฒนธรรมทวารวดีในดินแดนประเทศไทยเรานั่นเอง

ทางแถบบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า เพราะในวัฒนธรรมทวารวดีก็มีปรากฏในการใช้เหรียญทองคำกันแล้ว หรือย้อนไปถึง
“เงินตราปัตตานี” ของนครรัฐ “ลังกาสุกะ” ในวัฒนธรรมคาบสมุทรมลายูทางภาคใต้ของเมืองไทยเรา ซึ่งเริ่มตั้งแต่
พุทธศตวรรษที่ 7 รุ่งเรืองยาวนานถึง 1,400 ปี ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวหมู่บ้านกาแลจิน อ.เมืองปัตตานี

โดยบริเวณเมืองปัตตานีนั้น เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของลังกาสุกะมาก่อน จึงมีความเจริญจากการค้ากับต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยอยุธยา ได้มีการผลิตเหรียญทองขึ้นใช้เรียกว่า “เหรียญคูปัง” มีขนาด 9-10 มิลลิเมตร แบ่งออก
เป็น 3 ชนิด ได้แก่ 

เหรียญวัว เป็นเหรียญทอง ด้านหนึ่งเป็นรูปวัว เพราะเมืองปัตตานีมีตราประจำเมืองเป็นรูปวัว ซึ่งใช้มาตั้งแต่ครั้งปัตตานี
เป็นหนึ่งในเมืองนักษัตรของแคว้นนครศรีธรรมราช ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรอารบิก อ่านว่า “มาริดอัลอาดีล” หมายถึง รายาผู้ยุติธรรม  

เหรียญพระอาทิตย์ เรียกกันว่า “เหรียญดินาร์มาตาฮารี” เป็นเหรียญทอง ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ มีรัศมี 4-8 เส้น คล้ายรูปดอกไม้ อีกด้านหนึ่งประดับอักษรอารบิก ที่มีข้อความเหมือนกับเหรียญวัว

เหรียญอักษรอารบิก เป็นเหรียญทองที่มีชื่อรายา ผู้ครองนครด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีอักษรอารบิก ที่มีข้อความเหมือนกับเหรียญวัว 

นอกจากเงินตราปัตตานีแล้ว “เงินตราศรีวิชัย” ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานการสะสม และใช้เหรียญทองคำในวัฒนธรรมโบราณของคาบสมุทรภาคใต้ เพราะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ที่นับเป็นยุคทองของการค้าทางทะเล ส่งผลให้เมืองที่อยู่บนคาบสมุทรสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไชยา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางของสินค้าจากทางฝั่งตะวันตก คือ ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย และสินค้าจากทางฝั่งตะวันออก คือจีน ขอม ทวารวดี คึกคักขึ้นมา

จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตรา ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัยประกาศใช้เงินตราที่ทำด้วยเงินและทองคำ มี 2 ชนิด คือ “เงินดอกจัน” ด้านหนึ่งมีลวดลายเป็นรูปสี่แฉกคล้ายดอกจัน อีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตว่า “วร” แปลว่า “ประเสริฐ”

เงินตราอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เงินนโม” ด้านหนึ่งมีร่องเล็ก  ๆ คล้ายเมล็ดกาแฟ อีกด้านหนึ่งเป็น ภาษาสันสกฤตว่า “น” ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร “น” ว่า “เงินนโม” ที่ทั้งนักสะสมทองคำ และวัตถุโบราณในบ้านเรานิยมสะสมนั่นเอง

ถ้าพูดถึงทองคำแล้ว จะไม่พูดถึง “อยุธยา” มหานครแห่งทองคำของภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านเราคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีหลักฐานปรากฏมากมายทั้งบันทึก ตลอดจนศิลปวัตถุ โบราณวัตถุมากมายที่ผลิตขึ้นจากทองคำเป็นหลักฐานความรุ่งเรืองของอยุธยา

ในบันทึกของอาลักษณ์ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เรื่องสำเภากษัตริย์สุลัยมาน ซึ่งติดตามคณะราชทูตเปอร์เซียเข้ามาเจริญพระราชไมตรี กับกรุงสยาม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวว่า เรื่องสยามมีทองคำมั่งคั่งเป็นที่ร่ำลือในหมู่พวกพ่อค้านักเดินเรือชาติต่างๆ

อยุธยานั้นได้รับทองคำเป็นเครื่องราชบรรณาการ ผ่านการจัดสร้างต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายเป็นบรรณาการ เช่น ชาวเมืองปัตตานีทำดอกไม้ทองคำส่งมาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงสยาม 

ทองคำของอยุธยานั้นส่วนใหญ่ปรากฏเป็นงานเครื่องประดับสำหรับชนชั้นสูง งานศิลปะประดับประดา และงานศิลปวัตถุที่จัดสร้างถวายเป็นพุทธบูชา โดยเฉพาะกรุทองวัดราชบูรณะอันเลื่องชื่อ ที่นอกจากพระพิมพ์ พระพุทธรูปเครื่องประดับ สถูปจำลอง ที่ทำจากทองคำแล้ว ยังพบเหรียญทองคำอาหรับ ลักษณะเป็นแผ่นทองจารึกอักษรยาวี ร่วมอยู่ด้วย

แม้เวลาจะผ่านยุคผ่านสมัยมานานเท่าใด “เงินเหรียญทองคำ” ก็ไม่เคยห่างหายไปจากประวัติศาสตร์สังคมไทย แม้กระทั่งในยุครัตนโกสินทร์ของเรา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าขายกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้านานาชาติที่มาค้าขายได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลสยามเพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร

แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือ จึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวก
และการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ ในปี พ.ศ. 2400 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งพระนางได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวายเป็นราชบรรณาการ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “เหรียญเงินบรรณาการ” 

ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินเข้ามาในปลายปี พ.ศ. 2401 จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปณ์สิทธิการ” ในสมัยนี้ จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมา รัชกาลที่ 4 ก็ทรงมีพระราชดำริ จัดทำเหรียญทองคำขึ้นควบคู่ไปกับเหรียญเงินตามความนิยมของสากล จึงทรงมีประกาศความว่า “ตามอย่างเมืองอื่นที่เป็นเมืองแผ่นดินใหญ่ๆ นั้น หลายเมืองเมื่อทองคำมีมากขึ้น ผู้ครองแผ่นดินเมืองนั้นๆ ก็คิดทำเป็นเหรียญทองมีตราหลวงเป็นสำคัญให้ราษฎรใช้ในการกำหนดราคานั้นๆ ไม่ต้องเกี่ยงน้ำหนักแลเนื้อทองตีราคากัน ผู้ใดได้ทองตราทองเหรียญไป เมื่อต้องการเงินมาขอขึ้นเงินต่อคลังหลวง ฤๅเศรษฐีเจ้าทรัพย์ก็ได้ ตามกำหนดซึ่งพิกัดไว้…”  จึงเกิดคำว่า “ทองตรา” ขึ้น

เหรียญทองคำที่ได้จัดทำขึ้น ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 มี 3 ขนาด ขนาดใหญ่ ราคา 8 บาท เทียบเท่ากับ เหรียญทองปอนด์สเตอร์ลิงก์ เรียกว่า “ทศ” ขนาดกลางราคา 4 บาท เรียกว่า “พิศ” ส่วนขนาดเล็ก ราคาสิบสลึง เรียกว่า “พัดดึงส์” เทียบเท่า 1 ตำลึงจีน 

ในสมัยต่อมากระทั่งในยุคปัจจุบันก็ยังจัดทำเหรียญทองคำที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหรียญที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในรัชกาลที่ 9 รวมถึงเหรียญที่ระลึก พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

นอกจากจะเป็นการจัดทำ ในลักษณะของ “ที่ระลึกเหตุการณ์สำคัญ” แล้ว ยังเป็นลักษณะของสินทรัพย์ที่สามารถสะสมเพื่อความมั่นคง นอกจากการสะสม “ทองคำแท่ง” อีกรูปแบบหนึ่ง ควบคู่กันไป

รู้แบบนี้แล้วหลายคนคงอยากจะลองเก็บสะสมเหรียญทองคำไว้เป็นทุน เพื่อเก็งกำไรกันบ้างแล้วใช่ไหม แต่ก็ติดอยู่ตรงที่ว่าเหรียญที่ระลึกทองคำสมัยนี้จัดสร้างออกมาไม่บ่อย และจัดสร้างทีก็จำนวนน้อย ดังนั้น ไม่ต้องรอเหรียญทองคำก็ได้แล้ว ในสมัยนี้การสะสม “ทองคำแท่ง” ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสะสมสินทรัพย์เพื่อความมั่นคงด้วยทองคำที่ไม่ยากเลย เพราะเดี๋ยวนี้แค่มีเงินหลักพันก็สะสมได้ไม่ว่าจะเป็น ทอง 1 สลึง หรือ ทอง 2 สลึง ก็เลือกได้ตามความต้องการ

ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ
ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

บทความ : ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร  รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

www.britannica.com

www.thesprucecrafts.com

https://onlygold.com

Comments are closed.