ทองคำ กับสงคราม ยูเครน-รัสเซีย

4,776

ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ถือได้ว่ามีความปลอดภัย เมื่อสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อการลงทุนมีความผันผวนมากยามเกิดสงคราม

ไม่ใช่แค่เพียงสงครามเท่านั้น ที่ดึงดูดความสนใจการลงทุนในทองคำให้มากขึ้น แต่การพิมพ์ธนบัตร และการใช้จ่ายของรัฐบาลที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

และที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ชัดว่า ยามเกิดสงครามหรือสถานการณ์ตึงเครียดบนโลกใบนี้ แทบทุกครั้งราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์ที่ปะทุรุนแรงขึ้นจริง ๆ

อย่างเหตุการณ์ในช่วงยุค 70 เกิดเหตุการณ์การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปภายในประเทศของหลาย ๆ ประเทศ รวมไปถึงการปฏิวัติอิหร่านในช่วงปีค.ศ. 1977-1978 (ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูง 23-37%) หรือสงครามอิหร่านอิรักในปีค.ศ.1979 การบุกรุกเข้าอัฟกานิสถานโดยสหภาพโซเวียต และปมความขัดแย้งสหรัฐฯ และอิหร่านทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นจากเดิมถึง 126%

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า เหตุการณ์สงครามกำลังจะสิ้นสุดลง หรือสถานการณ์มีแนวโน้มจะกลับมาเป็นปกติ ราคาทองคำก็จะปรับตัวลดลงไปใกล้เคียงราคาก่อนเกิดสงครามเช่นกัน

ในปี ค.ศ. 2022 นี้ ทั่วทั้งโลกกำลังจับตาไปที่สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน 2 ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต่างเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่เมื่อมีการแบ่งแยกดินแดน ก็เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด

เมื่อรัสเซียพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในยูเครน ส่วนยูเครนก็พยายามตีตัวออกห่าง และหันไปจับมือกับชาติตะวันตกแทน 

โดยยูเครนต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ขณะที่รัสเซียค้านสุดตัว เพราะไม่อยากให้ NATO ขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรปตะวันออก และแถบทะเลบอลติกที่เคยเป็นพื้นที่ของสหภาพโซเวียตมาก่อน

โดย สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีสหรัฐฯ พร้อมด้วยชาติพันธมิตรจากตะวันตกเข้ามาร่วมด้วย มีความตึงเครียดขึ้นเป็นระยะ สื่อตะวันตกออกมาให้ข่าวรายวันว่ารัสเซียพร้อมบุกยูเครนทุกเมื่อ

ต่อมา ประธานาธิบดีรัสเซียได้ประกาศรับรองเอกราช 2 แคว้นกบฏยูเครน คือ โดเนตสก์ และ ลูฮันสก์ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของยูเครนติดกับรัสเซีย ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นไปอีก

หลายชาติ ทั้งสหรัฐฯ อียู อังกฤษ เยอรมนี ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทันที แต่ดูว่างานนี้รัสเซียจะไม่แยแส ก่อนเปิดฉากเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในหลายพื้นที่ของยูเครน โดยพุ่งเป้ายังโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่ทางการทหาร สร้างความหวั่นวิตกไปทั้งโลก ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แทบจะทันทีทันใด นักลงทุนแห่เทขายสินทรัพย์เสี่ยง หนีไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำ (Gold Spot) พุ่งขึ้นอย่างมาก

สำหรับวิกฤติการณ์ ยูเครน-รัสเซีย ซึ่งเริ่มขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และกำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน พบว่าราคาทองคำนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตรา 6% และเห็นได้ชัดว่านักลงทุนกำลังย้ายการลงทุนจากสินทรัพย์เพื่อการลงทุนชนิดอื่น ๆ ไปที่ทองคำมากขึ้น

ซึ่งดูจากสัญญาณแล้ว ราคาทองคำโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ และอาจได้เห็นนิวไฮใหม่ ซึ่งเคยทำไว้เมื่อช่วงที่โควิด-19 ระบาด

ทว่า แม้ความกังวลดังกล่าวจะลดน้อยลง หลังทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการเจรจากันหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังคงไร้สัญญาณข้อสรุปยุติในเร็ว ๆ นี้

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสงคราม เป็นเพราะมูลค่าของตัวทองคำนั่นเอง เพราะทองคำนั้นมีประโยชน์ในฐานะโลหะสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเงินตรามาเนิ่นนาน และยังถูกใช้เป็นเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอีกด้วย

ทองคำนั้นมีมูลค่าในตนเอง จัดเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ในยามวิกฤต และทองคำนั้นเป็นสินค้าที่มีมูลค่าลดลงไม่มาก ผิดกับเงินตราสกุลต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามการแปรผันของสภาพเศรษฐกิจ 

จึงถือเป็นแรงผลักดันให้ราคาทองคำดีดตัวรุนแรง “ทุบสถิติสูงสุดใหม่” เป็นประวัติการณ์ ก่อนจะเริ่มมีแรงขายสลับออกมาเป็นระยะ และค่อย ๆ ตกลงไปอยู่ในระดับราคาใกล้เคียงกับราคาก่อนเกิดสงคราม

ซึ่งถ้าไม่ได้อิทธิพลจากค่าเงินดอลล่าที่แข็งค่าขึ้น ก็ถือได้ว่าราคาทองคำในปัจจุบันนั้นต่ำกว่าราคาก่อนเกิดสงครามด้วยซ้ำ อีกส่วนหนึ่งราคาทองคำตอบรับกับทิศทาง “เงินเฟ้อ” หลังต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนพลังงานสูงขึ้น สะท้อนผ่านเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 40 ปี ยุโรปมีเงินเฟ้อสูงสุดใน 13 ปี ขณะที่ไทยคาดว่าจะสูงสุดในรอบ 13 ปี เช่นกัน 

ดังนั้น มาตรการลดเงินเฟ้อพุ่งสูง คือ ต้องปรับขึ้น “อัตราดอกเบี้ย” บ่งชี้ผ่านคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กำลังจะเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนตลอดทั้งปีนี้ และมีแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยจะสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 

ดังนั้น “ปัจจัยบวก” ดังกล่าวข้างต้น ส่งสัญญาณแนวโน้มราคาทองคำยังอยู่ในภาวะ “ขาขึ้น” หากสภาวะสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป

แต่ถึงแม้สงครามจะยังคงยืดเยื้อ ถึงแม้ว่าราคาทองคำในประเทศจะยังคงสวิงตามตลาดโลก แต่ไม่น่าจะผันผวนมากอย่างเช่นเคย น่าจะปรับตัวขึ้นลงในวงแคบมากกว่า

สิ่งที่น่าจับตาดู คือ การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลล่า และการตกต่ำของค่าเงินยูโร รวมถึงนโยบายของทางภาครัฐในการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศว่าจะมีทิศทาง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างไรมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำในประเทศในอนาคตที่จะถึงนี้

บทความ : ผศ.ดร.อัฐวุฒิ ปภังกร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

Comments are closed.